Smart City Smart Building ดิสรัปสำนักงาน

เซอิจิโร่ อิชิซึ ผู้จัดการทั่วไป แผนก Social Innovation Business บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โซลูชันSmart Building ใช้ในญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 5 ปีมาแล้วขณะที่ในระดับโลกประเมินว่าธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ระหว่างปี 2562-2567

ปัจจุบันพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การชอปปิงออนไลน์ การชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านอี-แบงก์กิ้ง การสนทนาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม การนำระบบซีเคียวริตี้ เทคโนโลยี มาใช้กับอาคารและสถานที่ต่างๆ เป็นต้น

พฤติกรรมและสถานการณ์เหล่านี้ ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ เห็นช่องว่างจาก “Pain Point” ของการให้บริการที่มีการแยกการให้บริการที่สร้างความยุ่งยากในการใช้งาน จึงได้นำธุรกิจ Smart Building Solution เข้าสู่ตลาดประเทศไทยเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สนับสนุนและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาคารสำนักงานสามารถดูแลจัดการหลายๆ อาคารได้พร้อมกัน และผู้ดูแลสามารถบริหารอาคารได้หลายระบบ

เช่น ระบบการเข้าออกอาคาร (Visitor Management System) หรือ Access Control System ซึ่งพนักงานหรือผู้มาติดต่อสามารถใช้บริการภายในอาคารผ่านระบบแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนด้วยระบบดิจิทัล แพลตฟอร์ม
จุดเด่นของ Smart Building Solution ของฮิตาชิ กล่าวคือ 1.มีโซลูชั่นความปลอดภัยทางด้านกายภาพ ระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เช่น การตรวจสอบใบหน้า และ QR Code บนมือถือ ช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลตั้งแต่เริ่มเข้าที่จอดรถ การโดยสารลิฟต์ และสามารถจัดการสิทธิ์และข้อมูลของ ผู้เช่าภายในอาคารและผู้มาเยือนได้อย่างน่าเชื่อถือ
2.การบริการแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนเพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้อาคาร โดยเจ้าของอาคารสามารถบริหารจัดการในหลายอาคาร และหลายระบบ ผ่านระบบเดียวได้พร้อมกัน ขณะเดียวกันสำหรับผู้ใช้อาคาร สามารถจอง Facility ต่างๆ เพื่อใช้งานเช่น การจองห้องประชุมส่วนกลาง หรือ Co-Working Space การลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ การสั่งอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ โดยสามารถชำระค่าบริการผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ได้

“Smart Building Solution ช่วยให้เกิดซินเนอร์ยีกับธุรกิจลิฟต์เดิมของบริษัท ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เพราะเป็นโซลูชั่นบริการแบบครบวงจรในอาคารสำนักงาน ที่มีทั้งระบบลิฟต์ การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ และบริการทางดิจิทัล”

Ref. https://www.bangkokbiznews.com/business/995392

อ่านต่อ

EA ส่ง MMR เซ็นเอ็มโอยู “บ.ครอบครัวขนส่ง” ลุยพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า คลองแสนแสบ

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ส่ง บริษัทย่อย”ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช” (MMR) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ประกอบการเรือโดยสารประจำทาง ในโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าคลองแสนแสบ ฟาก “สมโภชน์ อาหุนัย” ระบุความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อศึกษาและพัฒนาออกแบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าคลองแสนแสบ ให้มีประสิทธิภาพสามารถใช้งานได้จริง หวังนำมาใช้เป็นต้นแบบต่อไปในอนาคต
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 บริษัทไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด หรือ MMR ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด โดยมี นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมลงนาม

โดย MMR เป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ มีวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักในการศึกษาวิจัย และพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำ อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ในขณะที่ บริษัทครอบครัวขนส่ง เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรมเจ้าท่าในการประกอบธุรกิจเดินเรือโดยสารประจำทางให้บริการผู้โดยสารในคลองแสนแสบ เส้นทางทางน้ำ ตั้งแต่วัดศรีบุญเรือง ผ่านท่าเรือประตูน้ำ จนถึงท่าเรือสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยมีประสบการณ์การเดินเรือในคลองแสนแสบมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ทั้งนี้การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การยกระดับการเดินทางในคลองแสนแสบ เพื่อศึกษาและพัฒนา ออกแบบ ระบบควบคุมและขับเคลื่อนเรือโดยสารด้วยพลังงานไฟฟ้า ระบบจัดการพลังงานแบตเตอรี่บนเรือ ระบบพลังงานไฮบริด เพื่อใช้เป็นระบบสำรองพลังงานในการชาร์จแบตเตอรี่ รวมไปถึงระบบควบคุมการชาร์จแบตเตอรี่ในเรือ และสถานีชาร์จแบตเตอรี่บนฝั่ง ให้สามารถใช้งานในสภาวะการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาปรับเปลี่ยนเรือลำอื่นๆ ทั้งหมดให้เป็นเรือพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมตรงตามความต้องการ รวมถึงเพื่อพัฒนาบุคลากรและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการยกระดับพัฒนาธุรกิจอื่นๆ เพื่อเป็นการต่อยอดจากผลสำเร็จของการพัฒนาร่วมกันในอนาคต
“การที่ MMR และครอบครัวขนส่ง มีความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าคลองแสนแสบจะทำให้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ได้จริง มีคุณภาพและได้มาตรฐานตลอดจนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเรือโดยสารอื่นๆได้อีกในอนาคต ช่วยลดการใช้พลังงาน อีกทั้งลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดธุรกิจของกลุ่มบริษัทและร่วมฟื้นอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศต่อไป” นายสมโภชน์กล่าว

Ref. https://www.ryt9.com/s/prg/3309267

อ่านต่อ

กลุ่ม ปตท. พร้อมขับเคลื่อนไทยสู่สังคม EV หนุน ARUN PLUS ก้าวเป็นผู้นำยานยนต์พลังงานแห่งอนาคต

กลุ่ม ปตท. พร้อมขับเคลื่อนไทยสู่สังคม EV หนุน ARUN PLUS ก้าวเป็นผู้นำยานยนต์พลังงานแห่งอนาคต พร้อมเปิดให้สัมผัสประสบการณ์ “EV-verse” เป็นครั้งแรก ในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคต ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมการผลิตและการให้บริการ EV แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยแนวคิดอนาคตแห่งโลกยนตรกรรมไฟฟ้าที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทในเครืออย่าง Horizon+ EVme on-ion และ Swap & Go มาจัดแสดงภายในงาน ผู้สนใจเข้าชมได้ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
วันนี้ (22 มีนาคม 2565) – ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีเปิดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 และเปิดบูธอรุณ พลัส ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่ง กลุ่ม ปตท. โดย บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการของ EV Flagship อย่าง Horizon+ EVme on-ion และ Swap & Go ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้งาน EV ในทุกมิติ อาทิ เทคโนโลยี MIH Platform หรือ Open EV Platform โครงช่วงล่างของตัวรถที่มีความยืดหยุ่นสามารถนำมาประกอบเป็นช่วงล่างของ EV ได้หลายประเภท สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ เครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) และการให้บริการ EV แบบครบวงจรบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ เพื่อให้กลุ่มลูกค้าและผู้สนใจได้สัมผัสประสบการณ์นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ก่อนใคร

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) ด้วยการจับมือกับพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ ในการเป็นส่วนสำคัญที่จะร่วมพัฒนาระบบนิเวศ EV ของไทยให้ครบวงจร ซึ่งการเข้าร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการในมหกรรมยานยนต์ระดับประเทศครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่า กลุ่ม ปตท. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านนวัตกรรมพลังงานอนาคตในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์ม EV โครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการแบบครบวงจรที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และยังคงแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศ EV ของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ควบคู่กับการรุกสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงตามทิศทางโลก เพื่อพัฒนาคุณภาพสังคม ชุมชน และชีวิตของคนไทยให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

Ref. https://www.energynewscenter.com/%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%a1-%e0%b8%9b%e0%b8%95%e0%b8%97-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%82%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b9%88/

อ่านต่อ

กฟผ.ชวนคนไทยลดใช้พลังงานผ่านแคมเปญ Save Energy for ALL

กฟผ. ขานรับนโยบายภาครัฐใช้พลังงานลดลงร้อยละ 20 ผ่านมาตรการลดการใช้พลังงานในสำนักงาน กฟผ. ทั่วประเทศ พร้อมชวนคนไทยลดใช้พลังงานผ่านแคมเปญ “Save Energy for ALL ร่วมใจประหยัดพลังงาน ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน”
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้พลังงานทั่วประเทศและทั่วโลก กฟผ. ขานรับมาตรการลดการใช้พลังงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 โดยมุ่งเป้าลดการใช้พลังงานในสำนักงานลงร้อยละ 20 ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการควบคุมระบบแสงสว่างในอาคารโดยการตั้งเวลา (Timer) และติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Sensor) กำหนดเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงพักกลางวันและก่อนเวลาเลิกงานอย่างน้อย 30 – 60 นาที รวมถึงปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้น 26 – 27 องศาเซลเซียส พร้อมรณรงค์ให้พนักงาน กฟผ. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีแทนการสวมเสื้อสูท

นอกจากนี้ กฟผ. ได้นำระบบสื่อสารออนไลน์และระบบงานดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อประหยัดพลังงานมากขึ้น อาทิ ระบบประชุมออนไลน์ (Online Meeting) ระบบบริหารจัดการข้อมูลองค์กร (Enterprise Content Management :ECM) เปลี่ยนเครื่องพิมพ์แบบเครือข่าย (Network Printer) เพื่อสามารถใช้งานร่วมกันและลดจำนวนเครื่องพิมพ์ เปลี่ยนการส่งข้อมูลเป็นแบบดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมการใช้น้ำอย่างประหยัด ตรวจสอบจุดรั่วไหล ของระบบน้ำในอาคารเพื่อลดการสูญเสียน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประชาชนก็สามารถประหยัดพลังงานด้วยตนเองง่าย ๆ เพียงปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ปิดสวิตซ์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทันทีเมื่อเลิกใช้งาน
เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดของห้อง ในขณะเดียวกัน กฟผ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการลดใช้พลังงานของประเทศ และชวนคนไทยลดใช้พลังงานด้วยแคมเปญ “Save Energy for ALL ร่วมใจประหยัดพลังงาน ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน” กับ 2 กิจกรรม ล้างแอร์ฟรีช่วยชาติ และ ส่วนลดเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.egat.co.th ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การประหยัดพลังงาน เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผชิญกับวิกฤตนี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยกัน

Ref. https://www.energynewscenter.com/%e0%b8%81%e0%b8%9f%e0%b8%9c-%e0%b8%8a%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2%e0%b8%a5%e0%b8%94%e0%b9%83%e0%b8%8a%e0%b9%89%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%87%e0%b8%b2/

อ่านต่อ

สสส.ลงพื้นที่เสริมพลังงานลดอุบัติเหตุ เชื่อมฐานข้อมูล Smart City

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ทำการบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน วุฒิสภา นำโดย นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและประธานอนุกรรมการฯ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.)

ลงพื้นที่ศึกษาโครงการ Phuket Smart City ที่พัฒนาขึ้นโดยภาคเอกชนร่วมบูรณการระบบการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อสร้าง City Data Platform (CPD) เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และนำไปสู่แนวทางการป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนในอนาคต

นพ.ทวีวงษ์ กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นปัญหาเรื้อรังที่พยายามแก้ไขมานานกว่า 10 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง ซึ่งในทางภาคนโยบายควรต้องกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และมีเป้าหมายลดความสูญเสียที่ชัดเจน
ส่วนในระบบโครงสร้างพื้นฐานในระบบโลจิสติกส์และดิจิตัล ตั้งเป้าลดการสูญเสียให้ได้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ ศปถ.

จากการศึกษาพบว่า มีหลายหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนน จึงเห็นว่า ควรมีหน่วยงานกลางเชื่อมการทำงานของทุกหน่วยเข้าด้วยกันผ่านฐานข้อมูลของทุกภาคส่วน
โดยรัฐบาลเองก็มีมติตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุเลขหมายเดียว 191 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้และให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว วุฒิสภาจึง กำหนดแนวทางที่จะตั้งศูนย์อุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติขึ้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางกำกับติดตามการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้ง 356 วัน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

“สำหรับการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบว่าเป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และพบว่าภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมากในการสร้างความปลอดภัย และเป็นจังหวัดแรกๆที่เอกชนมีแนวคิดที่จะร่วมสร้างศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุของจังหวัด ซึ่งตรงกับความตั้งใจของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะทำให้เกิดหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่รวมข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่หรือจังหวัดนั้น ๆ และสามารถวิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง” นพ.ทวีวงษ์ กล่าว
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เชื่อมประสานและบูรณาการงานลดอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัด

โดยใช้หลัก 5ส. ส.ที่สำคัญมากอันนึ่งคือ “สารสนเทศ” ใช้ข้อมูล-สถิติ-ความรู้ เป็นตัวนำและขับเคลื่อนงานลดอุบัติเหตุ เก็บสถิติอุบัติเหตุ-เสียชีวิต ว่ามาจากเหตุปัจจัยใด พื้นที่ภูเก็ตเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีความร่วมมือเรื่องข้อมูลโดย สอจร. ได้เข้ามาเชื่อมการทำงานกับ บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง
บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จัดทำเรื่องของ Big Data ที่มีฐานข้อมูลอัจฉริยะหลากหลายด้านของ จ.ภูเก็ต ผ่านกล้อง ด้วยระบบ City Data Platform ปัจจุบันมีข้อมูลหลายด้าน เชื่อว่าหากมีการเชื่อมต่อข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ จะมาช่วยในการลดอุบัติเหตุทางถนนได้มากยิ่งขึ้น

“หัวใจสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ คือ ทำให้ผู้ที่ทำงานด้านข้อมูลนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน ใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รูปแบบของการเชื่อมต่อข้อมูลอาจออกมาในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่มีข้อมูลเส้นทางจากกล้อง CCTV ข้อมูลการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ข้อมูลของโครงการ Smart City ที่ช่วยให้เข้าถึงง่ายขึ้น และสามารถนำมาวิเคราะห์หาทางแก้ไขต่อไป สสส. มีเป้าหมายที่อยากใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาวางแผนแก้ปัญหา อาทิ เรื่องดื่มแล้วขับ ที่เป็นปัญหาความรุนแรงถึงชีวิต” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า การลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรเกิดจากความร่วมมือของเครือข่าย จ.ภูเก็ต และสิ่งสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยข้อมูล และก่อนหน้านี้เป็นการทำข้อมูลด้วยการบันทึกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก

สอจร.จึงมาร่วมหารือกับ บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด (City Data Analytic : CDA) เพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจรเข้ามารวมกับฐานข้อมูลของจังหวัด จะทำให้เรารู้ข้อมูลได้เรียลไทม์และแก้ไขได้ตรงจุด

แพลตฟอร์ม วิเคราะห์ข้อมูลเสนอแนวทางแก้ปัญหา
ด้าน นายกฤษฎาพงษ์ ตันทอง ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ จำกัด (CDA) บริษัทเอกชนในเครือ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเสนอแนวทางแก้ปัญหาของจังหวัด ซึ่งทางบริษัทได้สนับสนุนในเรื่องที่เชี่ยวชาญคือแพลตฟอร์มข้อมูล

โดยรวมเอาฐานข้อมูลจากหลายภาคส่วนมาไว้ในที่เดียว ซึ่งท้ายที่สุดข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การช่วยเหลือประชาชน…“จุดเด่นของแพลตฟอร์ม ไม่ใช่เพียงการรวบรวมข้อมูล แต่ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วย กล่าวคือ ข้อมูลของเราสามารถบอกได้ 4 ข้อคือ 1. มีอะไรอยู่บ้าง 2.ทำไมถึงเป็นแบบนั้น 3. แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป 4. แล้วจะแก้ไขอย่างไร
โดยเราจะมีข้อมูลในเชิงลึกและละเอียดมากขึ้น ว่าจุดไหนเกิดเหตุบ่อย ลักษณะการเกิดเป็นแบบไหน สาเหตุเกิดจาก รถ คน หรือถนน ช่วงอายุที่เสียชีวิต รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แน่นอนว่าในเรื่องการขอข้อมูลเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ดังนั้นเราจึงทำงานแบบภาคีเครือข่าย โดยมีแนวคิดที่ว่าคนที่ให้ข้อมูลต้องได้ใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลตามเป้าหมายของหน่วยงานตัวเองด้วย โดยที่ไม่ต้องลงแรงเพิ่ม

Ref. https://www.bangkokbiznews.com/social/995756

อ่านต่อ

เกรทวอลล์-เอ็มจี เซ็นสัญญาสรรพสามิต 21 มี.ค.นี้ ประเดิมขายรถอีวีราคาถูก

2 ค่ายรถยนต์จีน “เกรทวอลล์-เอ็มจี” เซ็นสัญญาสรรพสามิต 21 มี.ค.นี้ ร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล เตรียมนำรถอีวีที่ได้รับเงินอุดหนุน 7 หมื่นบาท-1.5 แสนบาท ประเดิมขายในงานมอเตอร์โชว์ 23 มี.ค.นี้

วันที่ 19 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพสามิตแจ้งว่าในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 นี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต จะลงนามร่วมกับผู้แทนบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อเอ็มจี) ในข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในเวลา 11.00 น. ที่เมืองทองธานี
โดยทั้ง 2 ค่าย จะนำรถอีวีมาจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค.นี้ ไปจนถึงวันที่ 3 เม.ย. 2565 ด้วยราคาขายที่มีส่วนลดตามมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล
ทั้งนี้ การเข้าร่วมมาตรการจะเป็นการการันตีว่าเงินที่รัฐบาลอุดหนุน 70,000-150,000 บาทต่อคัน รวมถึงการลดอากรขาเข้า เป็นการช่วยลดต้นทุนของค่ายรถ และการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการลดค่าบริหารจัดการให้ค่ายรถ
ซึ่งส่วนลดเหล่านี้จะค่ายรถจะนำไปเป็นส่วนลดให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถอีวี โดยในงานมอเตอร์โชว์นี้คาดว่าจะเห็นรถอีวีถูกลง จากราคาคันละ 900,000 บาท จะลดลงเหลือคันละราว ๆ 700,000 บาท

Ref. https://www.prachachat.net/finance/news-890654

อ่านต่อ

10 หุ้นบิ๊กแคปกลุ่มพลังงานที่ ‘ประกันสังคม’ ลงทุนมากที่สุด

สำนักงานประกันสังคมก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 สังกัดกระทรวงแรงงาน และเป็นผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากเป็นอันดับ 5 มูลค่าการลงทุนกว่า 2.82 แสนล้านบาท ผ่าน 75 หลักทรัพย์ โดยลงทุนในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมากถึง 12 หลักทรัพย์

THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคมเข้าไปลงทุนผ่านการเป็น 1 ใน 10 ผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค โดยจัด10 อันดับหลักทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนมากที่สุด ขณะเดียวกันอีก 2 หลักทรัพย์ ประกอบด้วย BANPU ประกันสังคมถือ 0.84% มูลค่า 626.99 ล้านบาท, และ BPP ประกันสังคมถือ 0.37% มูลค่า 187.27 ล้านบาท

Ref. https://thestandard.co/10-big-cap-stocks-that-social-security-most-invested/

อ่านต่อ

‘ไออีเอ’ คาดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 167 GW

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างผลสำรวจจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ซึ่งเปิดเผยในวันนี้ (20 พ.ค. 2020) ระบุว่าหลายประเทศทั่วโลกได้ลดจำนวนการก่อสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเนื่องด้วยผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีอัตราการเติบโตที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

โดยรายงาน ระบุว่า ทั่วโลกมีการก่อสร้างกังหันผลิตไฟฟ้า, โซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอัตราที่ลดลงจากเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อความต้องการพลังงาน รวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลต่อกระบวนการก่อสร้าง
ทั้งนี้ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า ในปี 2020 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 167 กิ๊กกะวัตต์ โดยถึงแม้ว่าจะเติบโต 6% จากเมื่อปี 2019 อย่างไรก็ตามเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลง 13% จากอัตราการเติบโตของเมื่อปี 2019 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่กำลังการผลิตมีอัตราการเติบโตที่ลดลง ในกรณดังกล่าวทางไออีเอคาดว่าอัตราการเติบโตจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในปีหน้าภายหลังมีการคลายมาตรการล็อคดาวน์

Ref. https://www.prachachat.net/world-news/news-466816

อ่านต่อ

’ซีพีเอฟ’ ตั้งเป้าเลิกใช้พลังงานถ่านหินในปีนี้

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทผลิตอาหารระดับโลก โดยมียอดขายในปี 2564 ที่ผ่านมากว่า 5.12 แสนล้านบาท ซึ่งมีการส่งออกสินค้าและลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำธุรกิจและส่งออกอาหารในต่างประเทศในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องปัจจัยสิ่งแวดล้อมมาก และนำมากำหนดเป็นกติกาและมาตรฐานทางการค้าทำให้การส่งออกอาหารของซีพีเอฟ ให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานนี้มาโดยตลอด และนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ความยั่งยืนความยั่งยืนของซีพีเอฟ 3 ข้อได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่บริษัทนำไปเชื่อโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG Goal) ทั้ง 17 ข้อ
สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบริษัทสามารถที่จะลดลงได้ต่อเนื่อง และในปี 2564 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 5 แสนตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 48 ล้านต้น และในแผนการขับเคลื่อนได้นำมาใช้กับการดำเนินธุรกิจจริงเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ โดยนโยบายการรับซื้อข้าวโพด 2.17 ล้านตันต่อปี ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าต้องไม่มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการจัดหาพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยซีพีเอฟใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลังงาน ซึ่งใช้พลังงานชนิดนี้กว่า 27% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดคิดเป็นประมาณ 3.07 ล้านกิกะจูล ถือว่าใช้พลังงานนี้มากที่สุด ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ประกอบไปด้วย ชีวมวล 65% ก๊าซชีวภาพ 33% และแสงอาทิตย์ 2%

รวมทั้งในปี 2565 วางแผนจะเลิกใช้พลังงานถ่านหินทั้งหมดในโรงงานทุกแห่ง โดยทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มอีก 7 หมื่นตัน นอกจากนั้น ซีพีเอฟ ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปลูกป่าเพิ่มเติม และการนำน้ำที่ใช้แล้วไปบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 40% ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรน้ำลงไปได้มาก

Ref. https://www.bangkokbiznews.com/business/994383

อ่านต่อ

สภาอุตฯ ผนึกกำลัง กฟภ. นำร่องแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยุคของ พลังงานสะอาด กำลังมา ยิ่งเห็นตัวเลขราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นแบบรายวัน เชื่อว่าจะเป็นกระแสที่กระตุ้นให้สังคมไทยปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในองค์กรที่ได้เริ่มโปรเจกต์รับมือกับเทรนด์พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกก็คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมเอกชน ที่ได้ประกาศความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยได้ร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงโครงการนำร่องการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียน และ Carbon Credit” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา

โดยได้มีการจัดทำฐานข้อมูลและการรับรองการผลิตไฟฟ้า Renewable Energy และ Carbon Credit ในรูปแบบแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 โดยการริเริ่มและสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้สามารถใช้เป็นต้นแบบตามแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียน สู่การต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆ ต่อไป

การพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รองรับการเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิตในภาคอุตสาหกรรม โดยทาง กฟภ. ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดส่งพลังงานแก่ผู้ซื้อ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้มีการใช้พลังหมุนเวียนเข้ามาสู่ภาคการผลิตมากยิ่งขึ้น
สอดรับกับนโยบายของประเทศไทยที่ต้องการเดินหน้าเป้าหมายด้านพลังงานตามกติกาใหม่ของโลก ในการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
ความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ ถูกวางเป้าหมายว่าจะช่วยสร้างการเติบโตทางด้านพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งหากบรรลุผลตามแผนที่วางไว้ จะมีการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ขยายไปยังทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

Ref. https://www.bangkokbiznews.com/business/994824

อ่านต่อ