คำสั่งของประธานาธิบดีรัสเซียให้ใช้กำลังทหารบุกประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 เป็นการยืนยันให้เห็นว่า สงครามระหว่างประเทศไม่ได้เกิดขึ้นกับเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น ทว่า “สงครามทางทหารจริงยังคงเกิดขึ้นได้อยู่” การสู้รบในยูเครนที่ยังดุเดือดเวลานี้ พร้อมความกังวลว่าจะบานปลายไปถึงสงครามโลกหรือไม่..? แม้จะมีหลายประเทศเข้ามาช่วยเจรจาแต่ยังไม่เห็นจุดจบ แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นเป็นคู่ขนานในทันที และอาจมีนัยที่รุนแรงกว่าที่คาด เพราะนอกจากกำลังทางทหาร การตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากรัสเซียต่อประเทศที่ประกาศคว่ำบาตร โดยเฉพาะยุโรปใน “เรื่องพลังงาน” คือ ปัจจัยควรติดตามใกล้ชิด
ในปี 2020 รัสเซียผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 639 พันล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ และในจำนวนนี้รัสเซียส่งออกไปถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 197 พันล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซเป็นอันดับต้นของโลก และรัสเซียยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกเช่นเดียวกัน แต่ผลจากการคว่ำบาตรรัสเซียทั้งเรื่องการเงินและการค้าต่างๆ โดยเฉพาะจากยุโรปทำให้เศรษฐกิจและค่าเงินของรัสเซียกระทบอย่างหนัก ดังนั้นหากรัสเซียตอบโต้ด้วยการหยุดส่งพลังงานให้กับยุโรป อาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียรวมกันถึง 40% ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะได้รับกระทบมากเป็นอันดับแรกคือ เยอรมันนี ที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียประมาณ 49% ลองลงมาคือ อิตาลี 46% ฝรั่งเศส 24% และยังมีอีกหลายประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนที่สูงมาก เช่น มาซิโดเนียเหนือ , บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา , มอลโดวา , ฟินแลนด์และลัตเวีย ที่พึ่งพาอาศัยก๊าซจากรัสเซียสูงกว่า 90% (ข้อมูล ACER ) แม้ว่าทางยุโรปจะเริ่มมีความพยายามหาแหล่งพลังงานอื่นเข้ามาทดแทน เช่น จากตะวันออกกลาง หรือสหรัฐฯ ก็คงไม่ใช้เรื่องง่ายที่หามาทดแทนได้ในทันที
ขณะเดียวกันประเทศในยุโรปที่รัสเซียนำเข้าสินค้ามากที่สุด ก็คือ เยอรมันนี ประมาณ 25.11 พันล้านเหรียญฯ รองลงมาคือ เบรารุส 13.66 พันล้านเหรียญฯ , อิตาลี 10.91 พันล้าน และฝรั่งเศส 8.59 พันล้าน ในจำนวนนี้มีเพียงประเทศเบรารุส ที่ไม่คว่ำบาตรรัสเซีย แต่เห็นได้ชัดถึงความเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียกับยุโรปที่สำคัญมาก
กว่า 2 สัปดาห์หลังรัสเซียก่อสงคราม มีผลกระทบกับเศรษฐกิจและตลาดสินทรัพย์มากขึ้น ประเด็นหลักที่ต้องติดตามใกล้ชิดจากนี้ คือ
1.) ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น จะสูงไปถึงระดับใด นักวิเคราะห์คาดว่าจะไปถึงระดับ 150 เหรียญฯ หรืออาจไปถึงระดับ 300 เหรียญฯ ถ้ารัสเซียหยุดส่งพลังงานให้ยุโรปจริงๆ แน่นอนว่าจะกระทบต่อเงินเฟ้อของสหรัฐฯกับยุโรป และมีผลต่อการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ ยุโรป (ECB) ในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ
2.) หากสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ จะทำให้ตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกเกิดความผันผวนสูงขึ้น และราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายส่วนอาจเริ่มกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูง และผู้อพยพจากยูเครนที่เข้าไปประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงที่เกิดภาวะถดถอย
3.) หากเกิดการใช้กำลังทางทหารเข้าช่วยยูเครน ประเด็นนี้น่ากังวลมากเพราะจะทำให้สถานการณ์บานปลาย เกิดเป็นสงครามที่ขยายวงในยุโรปจะกระทบถึงเศรษฐกิจและสินทรัพย์ทั่วโลกอย่างหนัก ทั้งการนำเข้า-ส่งออก , การขาดแคลนวัตถุดิบของห่วงโซ่การผลิตต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่เกิดการถดถอยอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าข้อสุดท้ายนี้อาจเกิดขึ้นยาก อีกทั้งมีหลายประเทศพยายามเข้ามาช่วยเจรจา เช่น จีน , ฝรั่งเศส , อิสราเอล แต่ท่าทีของรัสเซียยังมีความน่ากังวล เช่น มีการระบุชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรกว่า 20 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยุโรป ทำให้สถานการณ์อยู่ในจุดที่มีความน่าจับตามองว่ารัสเซียจะทำอะไรต่อไป..!?
ความผิดของรัสเซียที่รุกรานยูเครน ได้ถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจดังที่กล่าวไป ทำให้ยุโรปก็ถูกผลกระทบเช่นกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และสุ่มเสี่ยงมากขึ้น หากรัสเซียใช้เรื่องพลังงานตอบโต้กลับ ดังนั้นนัยของสงครามทหารของรัสเซียครั้งนี้ จะลามไปเป็นสงครามทางเศรษฐกิจด้วยหรือไม่ ..? หากรัสเซียยังไม่ยุติและการเจรจายังไม่ได้ผล และยุโรปจะมีท่าทีอย่างไรกับความมั่นคงของเศรษฐกิจที่มีเรื่องพลังงานตัวตัวแปรสำคัญ
ด้านการลงทุน ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เจอผลกระทบที่ชัดเจนมากในเรื่องสงคราม การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังถือว่าสนใจจากรายงานกำไรตลาดไตรมาส 4/2564 ที่ออกมาดีมาก ในระยะสั้นหุ้นกลุ่มพลังงาน ยังจับจังหวะเข้าลงทุนได้ และพิจารณาเลี่ยงกลุ่มที่มีต้นทุนการผลิตจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มประเทศได้รับผลกระทบจากสงคราม อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจมีความผันผวนสูง ช่วงนี้อยากแนะนำติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังการลงทุนให้มากนะครับ
การก่อสงครามของรัสเซียคือภาพสะท้อนว่า ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่นำไปสู่สงครามทำลายชีวิต , เศรษฐกิจและทรัพย์สินต่างๆได้ และไม่ว่าจุดจบของสงครามจะเป็นอย่างไร … ‘ฉากทัศน์ใหม่’ ที่น่าติดตามดูนับจากนี้ไปคือ รูปแบบดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจโลกจะเป็นอย่างไรในทางเศรษฐกิจและทางทหาร อาจจะมีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้งควบคู่ไป ภายใต้เงื่อนไขของผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศบนทรัพยากรของโลกที่มีจำกัด แต่ต้องไม่เกิดการสู้รบทำลายชีวิตผู้คนอีก
Ref. https://www.bangkokbiznews.com/columnist/993422
อ่านต่อ