ปตท. เดินหน้าลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ปี อัดงบ 9.4 แสนล้าน มุ่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียน-ยานยนต์ไฟฟ้า

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มปตท. วางแผนงานและงบลงทุน 5 ปี กลุ่มปตท. (ปี 2565-2569) รวมกว่า 9.4 แสนล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” พร้อมผลักดันประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อย่างไรก็ตาม ปี 2564 กลุ่ม ปตท. ส่งเงินเข้ารัฐกว่า 82,500 ล้านบาท

ปตท. มีแผนมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า รุกธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ (Future Energy) ซึ่งมี บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ ในปี 2573 พร้อมจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ ตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด บริษัทร่วมทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย รวมถึงจัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด เพื่อเป็นหลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท.
นอกจากนี้ ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศ อาทิ บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าบริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งอรุณ พลัส ยังจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในทำเลศักยภาพ พร้อมขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ ของ Swap & Go และจัดตั้ง บริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้งานพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ

การรุกธุรกิจใหม่ (Beyond) มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต มี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อินโนบิก ได้ร่วมนำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ด ให้กับประเทศเพื่อดูแลประชาชน และมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันและเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิตอล

Ref. https://www.khaosod.co.th/economics/news_6916867

อ่านต่อ

2 โรงไฟฟ้าใหม่สหรัฐหนุนกำไร เอ็กโก กรุ๊ป ทะลุ 1.02 หมื่นล้าน

เอ็กโก กรุ๊ป โชว์ผลประกอบการปี 2564 ยังคงแข็งแกร่ง มีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 42,093 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 10,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2563 ปัจจัยสนับสนุนหลักจากปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการลงทุน 2 โครงการใหม่ในสหรัฐอเมริกา บอร์ดไฟเขียวนำเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาปันผลครึ่งปีหลัง 3.25 บาท/หุ้น

วันที่ 1 มีนาคม 2565 นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ย้ำนโยบายรักษาการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและจ่ายเงิน ปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยมีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ให้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท

โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 27 เมษายน 2565 หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน 2565 เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ หากรวมการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท จะเป็นการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานสำหรับงวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2564 รวมหุ้นละ 6.50 บาท”

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การด้อยค่าของสินทรัพย์ การวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน และการรับรู้รายได้แบบสัญญาเช่า) จำนวน 10,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,480 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% เมื่อเทียบกับปี 2563 ในขณะที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 4,104 ล้านบาท ลดลง 4,629 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53% เมื่อเทียบกับปีก่อน

เนื่องจากมีผลกระทบหลักจากการแปลงมูลค่าหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท และจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรม (Fair value) ของเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งทั้ง 2 รายการเป็นการรับรู้ผลกระทบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและการดำเนินงาน

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ความผันผวนทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องจากปี 2563 และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงมีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ

ได้แก่ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา โรงไฟฟ้าเคซอน และจากอัตราค่าไฟฟ้าและไอน้ำต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าสตาร์ เอนเนอร์ยี่ โรงไฟฟ้าซาลักและโรงไฟฟ้าดาราจัท รวมทั้งยังรับรู้กำไรจากโครงการใหม่ในสหรัฐอเมริกา 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน และเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง

ในปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเน้นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ โดยมีความสำเร็จสำคัญ คือ การขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกา 2 โครงการ ได้แก่ การซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “ลินเดน โคเจน” และการซื้อหุ้นใน “เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง” ที่เป็นผู้นำการพัฒนา การขาย และการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โครงการพลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา การลงทุนในกิจการสตาร์ตอัพ “เพียร์ พาวเวอร์” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนซื้อขายพลังงาน ตลอดจนการได้รับใบอนุญาตเป็น “ผู้จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจี” เพื่อบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโกอย่างมีประสิทธิภาพ

เอ็กโก กรุ๊ป ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ด้วยการพัฒนา “โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง” เพื่อรองรับการลงทุนของ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในขณะเดียวกันยังได้ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ โดยร่วมกับ กฟผ. และราช กรุ๊ป จดทะเบียนจัดตั้ง “อินโนพาวเวอร์” เพื่อยกระดับงานวิจัยนวัตกรรมสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์

และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยี Solid Oxide Fuel Cell (SOFC) กับ กฟผ. Bloom Energy และ ATE เพื่อพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้า ที่จะช่วยสนับสนุนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยและการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ไฮโดรเจน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้สำเร็จ

“ในปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งต่อยอดความสำเร็จในธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ในขณะเดียวกัน ได้เร่งขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค และธุรกิจ Smart Energy Solution

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังมีพันธกิจในการเป็นพลเมืองที่ดีของชุมชนและสังคมและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน” นายเทพรัตน์กล่าว

เกี่ยวกับเอ็กโก กรุ๊ป

ปัจจุบันเอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 5,959 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมสูงถึง 1,364 เมกะวัตต์ ทั้งจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง

ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตลอดจนยังได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (“Peer Power”) บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (“Innopower”) และบริษัทด้านการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด (“Apex Clean Energy Holdings”)

Ref. https://www.prachachat.net/economy/news-876179

อ่านต่อ

ส่งเสริมอุตสาหกรรม “อีวี” ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.2565 จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้รถอีวีในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลยอมที่จะออกมาตรการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อให้ราคารถอีวีใกล้เคียงกับรถเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งรถยนต์และรถกระบะที่มีราคาแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้รับการอุดหนุนคันละไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ที่มีราคาแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกินคันละ 80,000 บาท โดยรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนผ่านค่ายรถ

รวมทั้งภาครัฐยังยอมที่จะลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์และลดภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมแล้วมีทั้งการจ่ายเงินอุดหนุนและการลดภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศใช้ในการสร้างตลาดยานยนต์อีวีในช่วงแรก โดยเฉพาะประเทศที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวมาก และปัจจุบันยังคงจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลจ่ายอุดหนุนจะลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกที่รัฐบาลจีนส่งเสริม

ประเทศไทยถึงเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีจำนวนการผลิตบางปีอยู่ในระดับท็อปเทนของโลก และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นดีทรอยด์ออฟเอเชีย ซึ่งการที่รัฐบาลผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็งในหลายกลุ่ม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศรองรับความต้องการ

อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจึงมีความเข้มแข็ง ซึ่งประกอบด้วยโรงงานประกอบที่เป็นบริษัทต่างชาติ และผู้ผลิตชิ้นส่วนในระดับเทียร์ 2 และเทียร์ 3 โดยในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีไทยที่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับจากค่ายรถยนต์ แต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนลดเหลือเพียง 1,500-3,000 ชิ้น ในขณะที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปอยู่ที่ 30,000 ชิ้น ซึ่งทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายต้องหายไปเมื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวีเต็มตัว

สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องให้น้ำหนักเมื่อสร้างตลาดและผลิตอีวีในประเทศได้แล้ว คือ การผลักดันให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอีวีไปพร้อมกัน รวมถึงการผลักดันให้ผู้ผลิตบางกลุ่มก้าวเข้าสู่การผลิตชิ้นส่วนให้อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น อากาศยาน การแพทย์ โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยเริ่มมองเห็นอนาคตใน 2 ปี ข้างหน้า ที่การผลิตอีวีในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันอ่างเข้มแข็งเพื่อให้การก้าวสู่ฐานการผลิตอีวีสำคัญของภูมิภาคไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

งานสัมมนา “Fast Track to the Net Zero” วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 – 17.30 น. ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/netzero3 เพื่อรับลิงก์ชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-338-3000 กด 1

Ref. https://www.bangkokbiznews.com/auto/990723

อ่านต่อ

TSE ขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น มูลค่ากว่า 600 ลบ. บันทึกกำไร Q1/65

บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้จำหน่ายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV Farm) ที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โครงการ ฮานามิซึกิ (Hanamizuki) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งและตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 18.1 เมกะวัตต์ และ 13.5 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นการขายเงินลงทุน 100% ของ Ishikawa Hanamizuki 1 G.K. (IH1) ที่ถือโดย TSE Group International PTE. LTD. (TSI) และของ Ibaraki Ushiku 2 G.K. (IU2) ที่ถือโดย Solar Assets PTE. LTD. (SA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TSE ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ด้วยมูลค่าการขายโครงการ จำนวน 2,101 ล้านเยน หรือ ประมาณ 603 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะบันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนดังกล่าวภายในไตรมาส 1/65 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องและสามารถนำเงินจากการขายเงินลงทุนดังกล่าวไปชำระหนี้สินบางส่วน อีกทั้งยังนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ด้านพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้น และคาดว่าจะรู้ผลการเจรจาเข้าซื้อสำเร็จภายในปี 65

Ref. https://www.mitihoon.com/2022/03/01/290155/

อ่านต่อ

ท่าฉางชูโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพิ่มกำลังผลิต 10,193 MW ในปี 2573

บมจ.ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชั้นนำ พร้อมรุกขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ กำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จากพลังงานทดแทนอีก 10,193 MW ภายในปี 2573 เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

วันที่ 1 มีนาคม 2565 นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE ผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า บริษัทมีจุดแข็งจากการเป็นหนึ่งในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม ผู้ประกอบธุรกิจโรงสกัดนํ้ามันปาล์มรายใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีผลพลอยได้จากการผลิต (by product) เป็นวัตถุดิบชีวมวลจากปาล์มจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทำให้เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งในปี 2562 จึงได้ขยายการเติบโตไปยังธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดจากธุรกิจเดิมของบริษัท และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจากนโยบายสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามแนวทาง Green Energy หรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งจากแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้แผนพัฒนาการกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ฉบับล่าสุด กำหนดเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นจำนวน 10,193 เมกะวัตต์ (MW) โดยเน้นการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ดังนั้น จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในประเทศไทยจะเพิ่มเป็น 34.23% ภายในปี 2573 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะสูงสุด (Peak) ในปี 2580 ที่ 53,997 MW หรือคิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 367,458 ล้านหน่วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นส่งผลบวกต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก เช่น ขยะชุมชน ก๊าซชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวมวล ฯลฯ ที่เข้ามาทดแทนแหล่งพลังงานดั้งเดิมอย่างถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต

นายพงศ์นรินทร์กล่าวต่อว่า บริษัทในฐานะผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 ประเภท ได้แก่ 1) โรงไฟฟ้าชีวมวล จากวัตถุดิบหลักประเภททะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และจากการเกษตรกรรม เช่น ไม้ชิป รากไม้สับ เป็นต้น และ 2) โรงไฟฟ้าขยะชุมชน ทำให้บริษัทจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้พลังงานในประเทศ และนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม บริษัทมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำ โดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ

นายศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP ในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW และปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 MW รับรู้รายได้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และจะได้รับ FiT Premium เป็นระยะเวลา 8 ปีแรกนับจากวัน COD

ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นโรงไฟฟ้าประเภท VSPP ที่ใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบเผาไหม้โดยตรง (Direct Combustion) ด้วยการนำวัตถุดิบชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ทะลายปาล์ม เส้นใยปาล์ม รากไม้สับ ต้นปาล์มสับ เป็นต้น มาเป็นเชื้อเพลิงป้อนเข้าสู่เตาเผา

ทั้งนี้ บริษัทมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW และปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวมประมาณ 16 MW คาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในไตรมาส 1/2565 และเริ่ม COD ได้ภายในปี 2567 จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 51.7 MW และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 36.3 MW

ขณะที่แผนการขยายธุรกิจเพื่อเติบโตในระยะยาว บริษัทเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES PRI จ.ปราจีนบุรี, โรงไฟฟ้า TES CNT จ.ชัยนาท, โรงไฟฟ้า TES UBN จ.อุบลราชธานี และโรงไฟฟ้า TES TCN จ.สมุทรสาคร คาดว่าหากได้รับคัดเลือกจาก อปท. ที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการในปี 2565 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 และคาดว่ากำลังผลิตติดตั้งรวมของบริษัทในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายหลังทั้ง 4 โครงการเริ่มดำเนินการแล้ว จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 90 MW

“นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เรามีนโยบายที่จะขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และก๊าซชีวภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาขยายธุรกิจเพิ่มเติมไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้จุดเด่นเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

Ref. https://www.prachachat.net/economy/news-876649

อ่านต่อ

ปตท.สผ.ทุ่ม 1.7 หมื่นล้าน ลงทุนกักเก็บคาร์บอน สู่เป้าลดการปล่อย 25%

ปตท.สผ. เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซ…

อ่านต่อ

เอ็มดีใหม่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ‘สวัสดิ์ อัศดารณ’ ดันดีล ‘ARV ผนึก ไอบีเอ็ม’

“สวัสดิ์ อัศดารณ” …

อ่านต่อ

MEA คว้า 2 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2564 มุ่งมั่นขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครอย่างยั่งยืน

วันนี้ (31 มกราคม 2565) นายกรั…

อ่านต่อ

MEA มอบตรา MEA ENERGY AWARDS ม.ราชภัฏสวนสุนันทา และ รพ.พญาไท 1 การันตีการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพและคุณภาพอากาศได้มาตรฐาน

 วันนี้ (31 มกราคม 2565) นายจา…

อ่านต่อ

กทท.จับมือ สศด.ยกระดับ ทลฉ.เป็น Smart City

เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำน…

อ่านต่อ